ถ้าสมมุติว่าสมองคนเป็นคอมพิวเตอร์
หน่วยความจำของแต่ละคน
ก็มีประสิทธิภาพไม่เท่ากันในแต่ละเรื่อง
บางคนจำแม่นเรื่องตัวเลข
บางคนจำแม่นเรื่องผู้คน
บางคนจำแม่นเรื่องรายละเอียดเชิงเทคนิค
แต่เรื่องอื่นที่ไม่ถนัด
ก็เหมือนความจำชำรุด
พอขาดไฟเลี้ยงก็หายไปราวกับไม่เคยมีอยู่
หรือไม่ก็เป็นหน่วยความจำที่ไว้ใจไม่ได้
สาระแนเอาความจำชุดหนึ่ง
ไปผสมกับความจำชุดอื่นโดยไม่มีใครสั่ง
ความจำเป็นเรื่องลึกลับ
โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการศึกษา
เกี่ยวกับเรื่องของความทรงจำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
แต่หากสนใจในแง่ของกรรม
ก็อาจมองเห็นอะไรเป็นภาพรวมง่ายขึ้น
แม้ไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ก็พอจับจุดได้เป็นหลักๆ
เราเอาเรื่องทางศาสนามาเป็นตัวอย่างการศึกษา
บางคนจำแม่นไปทุกเรื่อง
ลงรายละเอียดได้ยิบยับ
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบุคคลที่รู้จัก
ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคที่สลับซับซ้อน
ไม่ว่าจะเป็นลำดับสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิง
แต่พอมาเรื่องของศาสนา
แม้จะพยายามอ่าน พยายามท่องพระไตรปิฎกอย่างไร
ก็ดูเหมือนจะไม่จำ หรือจำคลาดเคลื่อน
ความเชื่อและนิสัยขั้นพื้นฐาน
เป็นตัวแปรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น
เช่น เดิมเป็นคนไม่เห็นสาระสำคัญของภาคทฤษฎี
จะปักใจเชื่อว่าลงมือลุยเลย ปฏิบัติเลยดีที่สุด
ตำรับตำราไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องไปอ่านมาก
นอกจากนั้นก็มีเรื่องของความชอบคิดเอง ชอบพูดเอง
ชอบให้คนมองว่าเป็นเจ้าของความคิด เจ้าของวาทะ
พอถึงจุดหนึ่ง เริ่มเห็นความสำคัญของภาคทฤษฎีขึ้นมา
ทั้งในแง่ของการอ้างอิงไว้พูดให้น่าเชื่อถือ
และทั้งในแง่ของการนำมาประยุกต์กับการปฏิบัติจริง
ก็จำไม่ได้ เหมือนความทรงจำทางศาสนารางเลือน
จับแพะชนแกะ ผิดฝาผิดตัว หรือพูดได้ว่าเพี้ยน
คล้ายขาดเสาหลัก ไร้ฐานที่มั่นทางความทรงจำ
แยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นความเห็นของตัวเอง
อันไหนเป็นคำพูดของครูบาอาจารย์
อันไหนเป็นพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสกันแน่
กับคนอีกแบบหนึ่งที่เป็นตรงข้าม
คืออะไรๆต้องเชื่อคนอื่นไว้ก่อน
ไม่กล้าคิดเอง ไม่กล้าสรุปเอง
ต้องให้คนอื่นคิด ให้คนอื่นสรุปอยู่ตลอด
พวกนี้บางทีจำแม่นเป็นบางเรื่อง
แต่อีกหลายเรื่องหลุดหมายไปหมดแบบยกกระบิ
เคยฟังก็บอกว่าไม่เคยฟัง
เคยเถียงก็บอกว่าไม่เคยเถียง
ทั้งนี้เพราะแรงศรัทธาเท่านั้น
ที่เป็นตัวยึดหรือตัวปล่อยความทรงจำทางศาสนาไป
สรุปคือ "ปัญญา" กับ "ศรัทธา" มีบทบาทใหญ่
ในเรื่องของหน่วยความจำทางศาสนา
ถ้าปัญญามากเกินไปก็จำไม่ค่อยถนัด
เพราะความคิดเข้าข้างตัวเองยืนจังก้าขวางทางอยู่
แต่ถ้าศรัทธาแรงเกินไปก็จำได้ชัดเป็นบางเรื่อง
เพราะจิตมีกำลังยึดเฉพาะจุดที่ปักใจแน่ว
เพื่อจะมีหน่วยความทรงจำทางศาสนาที่ดีเยี่ยม
อันจะมีผลให้หน่วยความทรงจำอื่นๆพลอยดีตาม
ศรัทธาและปัญญาควรสมดุล
ต้องมีลักษณะพร้อมจะน้อมใจฟังคำอันเป็นธรรม
โดยไม่เข้าข้างตัวเอง
ไม่ยืนกรานตามอำเภอใจแบบขาดเหตุผล
จะเชื่อข้อสรุปใดต้องผ่านการพิสูจน์
หรือถ้าไม่สะดวกจะพิสูจน์
อย่างน้อยก็ต้องผ่านการพิจารณา
ที่มีหลักเกณฑ์เป็นเหตุเป็นผล
พร้อมจะยอมรับเหตุผลอันเป็นจริง
โดยไม่เลือกข้างว่าจะเป็นฝั่งตนหรือฝั่งท่าน
แต่ถ้าคุณเป็นพวกชอบบิดเบือนคำคนอื่น
จ้องจับแต่ข้อผิด ไม่ยอมมองที่ข้อดี
หรือกระทั่งชอบเอาความเห็นของตนเอง
ไปใส่พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค
เพียรพยายามยัดเยียดความจำมืดๆใส่สมองคนอื่น
อันนี้ลืมไปได้เลย เรื่องจะมีหน่วยความจำทางศาสนาดีๆ
เท่าที่ผมเห็นมา ความทรงจำจะวิปริตปรวนแปรไปหมด
เป็นผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรมในปัจจุบันชาติ
จำได้ดีเฉพาะเรื่องที่กล่าวตู่คนอื่น
หรือตู่เอาพุทธพจน์มา "ใช้งาน" สนองกิเลสตนเอง
ที่จะนำมาประยุกต์พัฒนาชีวิตจิตใจให้เจริญ
กลับจำไม่ได้ หรือจำได้อย่างรางเลือน
ไม่รู้สึกถึงคุณค่า ไม่เชื่อว่าตนจะต้องปฏิบัติตาม
กรรมปัจจุบันเป็นอย่างไร
เกิดใหม่ก็มีสภาวะที่สอดรับอย่างนั้น
ถ้าคุณเคยเห็นคนที่มีความจำสับสน
เอาแต่อยู่กับความคิดของตัวเอง
อยู่ดีๆเป็นทุกข์กับความคิดที่บิดเบี้ยวของตัวเอง
จำได้แต่เรื่องที่ตัวเองเชื่อ
จดจำสาระดีๆที่มาจากภายนอกไม่ค่อยได้
เข้าข่ายคนเป็นโรค "ความจำเป็นพิษ"
เอาแต่ย้ำคิดย้ำทำในเรื่องไม่เป็นเรื่องไปจนชั่วชีวิต
นั่นแหละครับผลหนึ่งของกรรมประมาณที่กล่าวมาข้างต้น
เพื่อจะไม่มีความจำอันเป็นขุมนรกในตน
ก็ให้หน่วยความจำทางศาสนาของคุณ
เป็นไปเพื่อความสว่าง ความเจริญรุ่งเรือง
ทั้งสำหรับตนเองและผู้อื่นเถิด
ดังตฤณ
เมษายน ๕๓
No comments:
Post a Comment