Thursday, February 11, 2010

ตำนานรักพื้นบ้าน

ตำนานรักพื้นบ้าน ” อุสา – บารส” นับเป็นตำนานที่มีความยิ่งใหญ่ทางด้านวรรณกรรมของภาคอีสาน เรื่องหนึ่ง แม้คนทั่วไปจะคิดว่า เป็นนิทานหรือตำนานรักที่แต่งขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง สืบทอดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยก็ตาม จึงนับเป็นวรรณกรรมอันอมตะ ที่เล่าสู่กันฟังแล้วไม่เบื่อ สร้างความบันเทิง สนุกสนาน แต่ก็เป็นวรรณกรรมที่แฝงด้วยธรรมะอันว่าด้วย “ กฏแห่งกรรม” มาสอน” คนบาป” ได้สำนึกตน ตำนานรักพื้นบ้าน “ อุสา – บารส” อันอมตะของอีสาน เคยจัดแสดงที่” เขาพนมรุ้ง” จังหวัดบุรีรัมย์ มาแล้ว

         ในชาติปางก่อน “ นางอุสา” เป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ต่อมาเธอไปทำผิดกฎแห่งสวรรค์ จึงถูก “ พระอินทราธิราช” ผู้เป็นใหญ่ปรับโทษให้ลงมาใช้กรรมที่ก่อไว้ในเมืองมนุษย์ เธอจึงได้จุติในดอกบัวกลางสระน้ำใกล้กับอาศรมฤาษีจันทา

         เมื่อฤาษีจันทา เดินไปสระน้ำเห็นนางอยู่ในดอกบัวเช่นนั้น จึงนำขึ้นจากสระน้ำมาเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ต่อมาวันหนึ่ง เจ้าเมืองพานและมเหสีทราบเรื่องจึงขึ้นไปดูเห็นเป็นเรื่องจริง มีความอยากได้ไปเลี้ยงเป็นบุตร เพราะเจ้าเมืองพานและมเหสี เป็นหมันไม่มีลูก จึงขอเธอจากฤาษีจันทาเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งฤาษีจันทาก็ยินดียกนางให้

เมื่อ เจ้าเมืองพาน และมเหสี ได้ “ นางอุสา” มาเป็นธิดา ก็รู้สึกหวงแหนมาก กอปร์ทั้ง “ นางอุสา” ก็มีเรือนร่าง หน้าตา สวยงาม จะหาหญิงใดในแหล่งหล้ามาเปรียบมิได้ ต่อมาเมื่อนางแตกเนื้อสาว เจ้าเมืองพาน จึงได้นำไปฝากฤาษีจันทา “ ตาไฟ” ไว้ เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาไว้เพื่อป้องกันตัว โดยเจ้าเมืองพาน ได้สร้างหอสูงไว้ให้นางอุสาอยู่อาศัย เป็นการป้องกันภัยจากสิงสารา สัตว์

         จากวัยเด็กสู่วัยสาว “ นางอุสา” คนงามไม่เคยพบผู้คนโดยเฉพาะหนุ่ม ๆ เลยสักครั้ง จึงเกิดความเหงา ว้าเหว่ วันหนึ่งนางจึงไปเก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยรูปหงส์ฟ้า และเขียนความในใจลงไปในมาลัยดอกไม้ในกระทงลอยน้ำออกมา พร้อมทั้งอธิษฐานว่า “ ขอให้กระทงน้อยใบนี้ล่องลอยไปพบชายหนุ่มเนื้อคู่ของข้าด้วยเถิด” แล้วปล่อยกระทงน้อยล่องลอยจากหน้าหอนางไปตามลำธาร ออกสู่แม่น้ำโขงเขตเมืองปะโค หนองคาย ในเวลาต่อมา

         ขณะนั้น “ ท้าวบารส” ลูกชายเจ้าเมืองปะโค ได้ออกไปที่ท่าน้ำ ก็พบกระทงเสี่ยงทายของนางอุสาที่ล่องลอยน้ำอยู่ จึงคว้ามาเห็นข้อความจึงอ่านดู และรู้ความในใจของนางที่กลีบดอกไม้มาลัยในกระทงใบนั้น ท้าวบารส จึงขี่ม้าออกเสาะหาเจ้าของ” สารเสี่ยงรัก” ขึ้นไปตามลำธาร จนถึงหอนางอุสา ก็เป็นเวลาพลบค่ำพอดี

         ทันใดนั้นก็มีเสียงเพลงพื้นเมืองล่องลอยมาจากหอนาง ท่ามกลางความเงียบสงัด ท้าวบารส จึงผูกม้าไว้ที่เพิงหิน ( คอกม้าท้าวบารส) แล้วเดินตามหา” เสียงนาง” ไปจนถึงหอนาง ในที่สุดทั้งสองคนก็ได้ตกลงปลงใจได้เสียซึ่งกันและและได้เป็น” คู่ครอง” ตั้งแต่บัดนั้น

         ต่อมา พระยากงพาน ทราบเรื่องก็แค้นใจและหาทางกำจัดท้าวบารสลูกเขย โดยออกอุบายท้าทาย สร้างวัดแข่งกัน มีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ให้สร้างเสร็จในเวลาครึ่งคืน เริ่มตั้งแต่ตะวันตกดินจนกว่าดาวฤกษ์หรือดาวประจำเมืองจะขึ้น ใครสร้างเสร็จไม่ทันก็ถือว่าแพ้พนัน ต้องถูกตัดหัว

        ท้าวบารส ลูกเขยรับคำท้า พ่อตา ทั้งที่มีบริวารและแรงงานน้อย แต่ท้าวบารส กลับมีอุบายดีกว่า พอสร้างไปได้นานโขแต่ยังไม่ทันครึ่งคืน ท้าวบารส จึงสั่งให้บริวารนำเอาคบไฟไปจุดบนยอดเขาก่อนที่ดาวฤกษ์จะขึ้น พระยากงพาน เห็นดวงไฟก็เข้าใจว่าดาวประจำเมืองขึ้นแล้วจริง ๆ จึงหยุดสร้างวัด แต่ฝ่ายท้าวบารส กลับสร้างต่อจนเสร็จ

         เป็นอันว่า ลูกเขยเอาชนะพ่อตาได้ด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว เจ้าเมืองพาน พ่อตา เสียรู้ ท้าวบารส ลูกเขย และเสียหัวไปในที่สุด ซึ่งบริเวณแห่งนั้นมีสีแดงกระจายไปตามโขดหิน ให้ผู้คนทั้งหลายเข้าใจว่า เมื่อ พระยากงพาน ถูก ท้าวบารส ตัดหัว เลือดก็พุ่งเป็นไฟพะเนียงกระจายเต็มไปทั่วบริเวณแห่งนั้น นางอุสา รู้สึกเสียใจเพราะสามีฆ่าพ่อของนางแต่ก็พูดอะไรไม่ได้

         ท้าวบารส จึงพานางอุสา เดินทางกลับบ้านเมืองปะโค และด้วยความงดงามของนาง จึงทำให้มเหสีและนางสนมของท้าวบารส อิจฉาริษยา ได้ร่วมกันวางแผนกำจัดนางอุสา โดยจ้างให้ “ โหรหลวง” ทำนายทายทักว่า ท้าวบารสกำลังมีเคราะห์ร้าย ต้องให้ออกเดินป่าเพื่อสะเดาะเคราะห์จึงจะหาย ท้าวบารส หลงเชื่อ จำใจต้องออกเดินป่าตามแผนที่มเหสีและนางสนมวางเอาไว้

         ในระหว่างที่ ท้าวบารสออกเดินป่าแก้เคล็ดอยู่นั้น บรรดานางสนมก็ใช้กิริยา วาจา เยาะเย้ย หยามหยัน กลั่นแกล้งนางอุสา ไปต่าง ๆ นานา จนกระทั่งนางอุสา เกิดตรอมใจ มีอาการทรุดหนักลงเรื่อย ๆ ในที่สุด นางอุสา ก็ตัดสินใจกลับบ้านไปอยู่หอนาง ตามเดิม เมื่อท้าวบารส กลับมาทราบเรื่องรีบจึงติดตามนางอุสาไปจนถึงหอนาง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันที่นางอุสาป่วยหนัก ท้าวบารส ช่วยอะไรไม่ได้ แล้วนางอุสาก็สิ้นใจตายในอ้อมกอดของท้าวบารสอย่างสงบ ท้าวบารส เสียใจมาก ไม่เป็นอันกินอันนอน เดินไปมาคล้ายคนบ้าคลั่ง และก็ตรอมใจตายตามนางอุสาไปในเวลาอันไล่เรี่ยกัน

         พระพุทธองค์จึงเสด็จไปยังถ้ำหนองบัวบานและพบกับนาคดุร้ายนามว่า ” พญากุทโธปาปนาค ” ตอนแรกนาคเกเรตนนี้ได้แสดงฤทธิเดชเพื่อทำร้าย แต่พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาโปรด จึงไม่สามารถเข้าทำร้ายได้ พร้อมกันนั้นพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมประทานแก่ “ กุทโธปาปนาค ” จนเกิดความเลื่อมใสและยอมถวายตนเป็นศิษย์และยึดพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง

         ผู้เขียนมีความชื่นชมต่อการแต่งตำนานรักพื้นบ้าน ” อุสา – บารส” เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวรรณกรรม ชั้นเยี่ยม ที่ผู้แต่งสามารถ” ผูกเรื่อง” และ” จัดฉาก” ให้เขากับสถานที่ ซึ่งเป็นโลเกชั่นที่เหมาะสมกับชื่อในตำนาน และยังเป็นหลักฐานได้อย่างเหมาะเจาะสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน อีกด้วย.

No comments: