Wednesday, February 10, 2010

เจ้าเฮือน ๓ พระองค์

เจ้าเฮือน ๓ พระองค์

         ในอุรังคนิทานซึ่งเป็นตำนานของพระอุรังคธาตุนั้น ในกัณฑ์ที่ ๔ ได้กล่าวถึง “ เทพเจ้าสโมสร” พระอินทร์นำบริวารลงมาบูชาพระธาตุพนม กล่าวคือ เมื่อพญาทั้ง ๕ คือ พญาสุวรรณภิงคาร, พญาคำแดง, พญาจุลณีพรหมทัต, พญาอินทปัฐนครและพญานันทะเสน สร้างพระธาตุพนมและพระมหากัสสปเถระเจ้าได้นำเอาพระอุรังคธาตุเข้าบรรจุไว้แล้ว ก็เสด็จกลับไปยังชมพูทวีป ฝ่ายพญาทั้ง ๕ ก็นำเสนาอำมาตย์ กลับไปยังเมืองของตน ๆ

พระอินทร์นำบริวารลงมาบูชา

เมื่อพญาทั้ง ๕ กลับไปแล้ว พระอินทร์นำบริวารลงมาบูชาพระอุรังคธาตุ และเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับได้แต่งเทวดารักษาพระบรมธาตุ ดังนี้
วนปคุมพาเทวดา พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ ตน ให้รักษาด้านเหนือ
ภุมมปติรุกขเทวดา พร้อมบริวาร ๕๐๐ ตน ให้รักษาด้านทิศใต้
สุรุทธกาเทวดา พร้อมบริวาร ๕๐๐ ตน ให้รักษาด้านทิศตะวันออก
โพธิรุกขะปัตตะเทวดา พร้อมบริวาร ๕๐๐ ตน ให้รักษาด้านทิศตะวันตก
             เทวดาทั้งมวลนี้ให้รักษาเครื่องที่พระอินทร์ตกแต่งสักการะบูชาทั้งมวล
- สุนทิธรณีเทวดา พร้อมบริวาร ๕๐๐ ตน ให้รักษาพื้นภูกำพร้าทั้งสิ้น
- วิจิตตเลขาเทวดา พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ ตน ให้รักษาภายบนอากาศทั้งมวลเทวดาทั้งหลายเหล่านี้มีอายุยืน ตลอดกัลป์
ทุกตน

มเหศักดิ์ ๓ ตน หรือ เจ้าเฮือน ๓ พระองค์
นอกจากเทวดาทั้ง ๔,๐๐๐ องค์แล้ว ยังมีมเหศักดิ์หลักเมืองอีกสามตน
ตนหนึ่งชื่อว่า “ทักขิณรัฎฐา” คือ เจ้าเมืองขวา อยู่หน้าวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
ตนหนึ่งชื่อว่า “สหัสสรัฎฐา” คือ เจ้าแสนเมือง อยู่ริมบึงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ตนเหนึ่งชื่อว่า “นาคกุฎฐวิตถาร” คือ เจ้าโต่งกว้าง อยู่ปากเชตกก้ำใต้ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
มเหศักดิ์ทั้ง ๓ ตนนี้ มีฤทธิ์เดชมาก เป็นมเหศักดิ์หลักเมือง เป็นหูบ้านการเมือง ปกปักรักษาพระมหาธาตุและข้าโอกาสทั้งหลาย ผู้ใดคิดคตทรยศต่อพระมหาธาตุเจ้า เทียรย่อมลงโทษให้ถึงวิบัติไปต่าง ๆ คฤหัสถ์และนักบวชผู้ใดสร้างบุญศีลกินทาน ให้อุทิศหยาดน้ำแผ่บุญถึง เทวดาทั้ง ๔,๐๐๐ องค์และมเหศักดิ์เจ้าทั้ง ๓ ให้อนุโมทนาและเป็นพยาน ก็จักวุฒิมีสวัสดีแก่ตนแล
ทุกปีในพิธีแห่พระอุปคุต ข้าโอกาสพระธาตุพนม ก็ได้จัดดอกไม้พร้อมเครื่องบูชาทั้งมวล บูชาเจ้าเฮือน ๓ พระองค์ พร้อมกับบอกกล่าว “คอบ” เพื่อให้เจ้าเฮือนทั้ง ๓ พระองค์ช่วยปกปักรักษางานอีกส่วนหนึ่ง
ปัจจุบันทางวัดได้สร้างศาล “หอ” หลังหนึ่งอยู่บริเวณบึงหน้าวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นที่สถิตของเจ้าเฮือน ๓ พระองค์ เพื่อปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมและข้าโอกาสพระธาตุพนมตลอดไป

No comments: